บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน)
นโยบายการใช้ข้อมูลภายในและการซื้อขายหลักทรัพย์
ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน
1. บทนำ บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ให้ความสำคัญต่อการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ มีความมุ่งหมายที่จะมีนโยบายห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทฯ นำความลับหรือข้อมูล ภายในที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนไปเปิดเผยหรือแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าจะได้รับผลตอบแทน หรือไม่ก็ตาม รวมทั้งต้องไม่ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ โดยใช้ข้อมูลภายใน คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้จัดทำนโยบายการซื้อขายหลักทรัพย์ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เพื่อถือปฏิบัติต่อไป 2. วัตถุประสงค์นโยบายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ2.1 กำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ
2.2 ช่วยให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และประกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน
2.3 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทฯ
3. ขอบเขต3.1 นโยบายฉบับนี้บังคับใช้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของ บริษัทฯ นอกจากนี้เนื้อหาบางส่วนของนโยบายยังครอบคลุมถึงคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวด้วย
3.2 นโยบายฉบับนี้ครอบคลุมถึงการเก็บรักษาความลับ การเก็บรักษาข้อมูลภายใน การซื้อขายหลัก ทรัพย์ของบริษัทฯ
4. คำนิยาม ข้อความหรือคำใดๆ ที่ใช้ในนโยบายฉบับนี้ให้มีความหมายดังต่อไปนี้ เว้นแต่ข้อความดังกล่าวจะแสดงหรือได้อธิบายไว้เป็นอย่างอื่น4.1 “หลักทรัพย์” หมายถึง หุ้น (สามัญและบุริมสิทธิ) หุ้นกู้ สิทธิในการซื้อหุ้น (Stock Option) ตราสารอนุพันธ์ (เช่น ฟิวเจอร์ส และออปชั่น) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้ (Warrants) และตราสารทางการเงินอื่นๆ ที่สามารถซื้อ ขาย โอน และ/หรือแลกเปลี่ยนได้ในตลาดทุนและตลาดการเงิน
4.2 “การซื้อขาย” ให้รวมถึง การซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ และ/หรือ ผล ประโยชน์ต่างๆ ทางกฎหมายในหลักทรัพย์ รวมทั้งการใช้สิทธิในการซื้อหุ้น หรือใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือหุ้นกู้
4.3 “ข้อมูลภายใน” หมายถึง ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ซึ่งยังไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ตัวอย่างของข้อมูลภายใน ได้แก่
ก) ฐานะการเงินและผลประกอบการทางการเงิน
ข) การคาดการณ์ทางการเงิน (Financial Projections)
ค) การจ่ายหรือไม่จ่ายปันผล
ง) การเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ของหลักทรัพย์
จ) การเรียกไถ่ถอนหลักทรัพย์
ฉ) การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแผนการลงทุน หรือโครงการลงทุน
ช) การร่วมทุน การควบรวมกิจการ หรือการขายกิจการ
ซ) การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทอื่น
ฌ) การซื้อหรือการขายสินทรัพย์ที่สำคัญ
ญ) การได้มา หรือสูญเสียสัญญาทางการค้าที่สำคัญ
ฎ) ข้อพิพาททางกฎหมายที่สำคัญ
ฏ) การเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ
ฐ) การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางบัญชีที่สำคัญ
ฑ) การเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุม หรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในคณะกรรมการบริษัทฯ หรือผู้บริหารระดับสูง
4.4 “ผู้บริหารสี่รายแรก” หมายถึง ผู้บริหารตามคำนิยามของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
5. หน้าที่และความรับผิดชอบ(1) คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มอบหมายให้กรรมการผู้จัดการทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายฉบับนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าบุคคลที่บริษัทฯ กำหนดได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ที่กำหนดไว้
(2) เลขานุการบริษัทมีหน้าที่หลักในการนำนโยบายฉบับนี้ไปปฏิบัติใช้ รวมทั้งติดตามประสิทธิผล ตลอดจนชี้แจง ตอบข้อสักถาม และตีความในกรณีที่มีข้อสงสัย
(3) ผู้บริหารมีหน้าที่รับผิดชอบ และทำให้มั่นใจว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนได้ตระหนักถึงความสำคัญ และมีความเข้าใจนโยบายฉบับนี้ รวมทั้งปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด
(4) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน จะต้องปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งสื่อสารนโยบายฉบับนี้ให้คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะได้รับทราบ
6. นโยบายและแนวทางปฏิบัติ
6.1 ข้อห้ามในการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามข้อห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์โดยการใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 241 ดังต่อไปนี้ “ในการซื้อขายซึ่งหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการซื้อหรือขาย หรือเสนอซื้อ หรือเสนอขาย หรือชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อ หรือขาย หรือเสนอซื้อ หรือเสนอขาย ซึ่งหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการที่เป็นการน่าจะเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชน และตนได้ล่วงรู้มาในตำแหน่งหรือฐานะเช่นนั้น และไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทำเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือนำข้อเท็จจริงเช่นนั้น ออกเปิดเผยเพื่อให้ผู้อื่นกระทำการดังกล่าว โดยตนได้รับประโยชน์ตอบแทน 6.2 บุคคลที่บริษัทฯ กำหนด (Designated Persons)6.2.1 “บุคคลที่บริษัทฯ กำหนด” หมายถึง บุคคลที่มีตำแหน่งหรือหน้าที่ ซึ่งล่วงรู้และ/หรือครอบครองข้อมูลภายในของบริษัทฯ (รวมถึงคู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) ได้แก่
(1) กรรมการ
(2) ผู้บริหารสี่รายแรกหรือเทียบเท่า
(3) ผู้บริหารและพนักงานในหน่วยงาน ดังต่อไปนี้ แผนกบัญชีและการเงิน แผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ แผนกนักลงทุนสัมพันธ์ แผนกเลขานุการบริษัท แผนกตรวจสอบภายใน
(4) ผู้บริหารและพนักงานทุกคนที่เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริษัทฯ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการชุดย่อย และ/หรือการประชุมอื่นใดของบริษัทฯ ที่มีการใช้ข้อมูลภายใน
(5) บุคคลอื่นใดที่บริษัทฯ กำหนด
6.2.2 เลขานุการบริษัททำหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาทะเบียนรายชื่อบุคคลที่บริษัทฯ กำหนดและแจ้งให้บุคคลดังกล่าวทราบเมื่อถูกเพิ่ม/ลบรายชื่อในทะเบียนดังกล่าว
6.3 ช่วงเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ (Blackout Period)6.3.1 ห้ามบุคคลที่บริษัทฯ กำหนด ซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ช่วงเวลา 30 วัน ก่อนการเปิดเผยงบการเงินประจำไตรมาส และประจำปี และช่วงเวลาอื่นที่บริษัทฯ กำหนด
6.3.2 ให้บุคคลที่บริษัทฯ กำหนด แจ้งต่อคณะกรรมการ หรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมายเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของบริษัท อย่างน้อย 1 วันล่วงหน้าก่อนทำการ ซื้อขาย
6.3.3 ในสถานการณ์พิเศษ บุคคลที่บริษัทฯ กำหนดอาจขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในระหว่างช่วงเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ได้ หากตกอยู่ในสถานการณ์ เช่น มีความยากลำบากทางการเงินอย่างรุนแรง หรือต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ทางกฏหมาย หรือตกอยู่ภายใต้คำสั่งศาล โดยต้องจัดทำบันทึกระบุขอเหตุผลเสนอขออนุมัติ
6.3.4 อยู่ภายใต้คำสั่งศาลโดยต้องจัดทำบันทึกระบุเหตุผลเสนอขออนุมัติต่อ
(1) ประธานกรรมการ (กรณีผู้ขายเป็นกรรมการหรือเลขานุการบริษัท)
(2) คณะกรรมการตรวจสอบ (กรณีผู้ขายเป็นประธานกรรมการ)
(3) กรรมการผู้จัดการ (กรณีผู้ขายเป็นบุคคลที่บริษัทฯ กำหนด ซึ่งไม่ใช่กรรมการและเลขานุการบริษัท)
ทั้งนี้ ผู้ยื่นขออนุมัติต้องทำการซื้อขายหลักทรัพย์ภายในระยะเวลา 3 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษร และให้จัดส่งสำเนาบันทึกดังกล่าวให้แก่เลขานุการบริษัทด้วย
6.3.5 เลขานุการบริษัทจะประกาศช่วงเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ให้บุคคลที่บริษัทฯ กำหนดทราบเป็นการล่วงหน้า
6.4 การรายงานการถือครองหลักทรัพย์
6.4.1 การรายงานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง
(1) กรรมการ ผู้บริหารสี่รายแรกของบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ตามแบบ 59-2 ของสำนักงาน ก.ล.ต. และยื่นแบบด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่มีการซื้อ ขาย หรือรับโอนหลักทรัพย์ ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ มาตรา 59
(2) บุคคลที่บริษัทฯ กำหนด นอกเหนือจากกรรมการและผู้บริหรสี่รายแรก มีหน้าที่ต้องจัดทำแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของบริษัทฯ (เอกสารแนบ 1) และนำส่งให้เลขานุการบริษัทภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่มีการซื้อขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์
6.4.2 ข้อยกเว้นการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ต้องจัดทำแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ตามแบบ 59-2
(1) การเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering)
(2) การใช้สิทธิตามหลักทรัพย์แปลงสภาพ
(3) การเสนอขายหุ้นหรือการใช้สิทธิตามใบสำคัญสิทธิที่จะซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้แปลงสภาพ (Warrants) ที่ออกใหม่ให้แก่กรรมการหรือพนักงานของบริษัทฯ (Employee Stock Option Program “ESOP”) หรือได้รับหลักทรัพย์จากโครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง (Employee Joint Investment Program “EJIP”)
(4) การรับหลักทรัพย์โดยทางมรดก
(5) การโอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ จากการวางเป็นประกันการซื้อขายสัญญา ซื้อขายล่วงหน้า
(6) การโอนหรือรับโอนซึ่งกระทำกับผู้ดูแล และเก็บรักษาหลักทรัพย์ (Custodian) ที่ถือครองหลักทรัพย์แทนบุคคลดังกล่าว
6.5 การซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เข้าข่ายการซื้อขายหลักทรัพย์ตามนโยบายฉบับนี้นโยบายฉบับนี้ไม่บังคับใช้ในกรณีการเข้าถือหลักทรัพย์ หรือรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (Tender Offer) 6.6 ข้อจำกัดอื่นๆ ในการซื้อขายหลักทรัพย์6.6.1 บริษัทฯ สนับสนุนให้บุคคลที่บริษัทฯ กำหนด ลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในระยะยาว ทั้งนี้ไม่ควรซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในระยะสั้น หรือเพื่อเก็งกำไรในหลักทรัพย์ของบริษัทฯ
6.6.2 บุคคลที่บริษัทฯ กำหนดควรหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรม ดังต่อไปนี้
(1) การชอร์ตเซล (Short Sale) หลักทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณแก่ตลาดได้ว่าผู้ขายไม่มีความเชื่อมั่นในบริษัทฯ และ/หรือ บริษัทย่อย
(2) การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ (เช่น ฟิวเจอร์ส และออปชั่น) ที่มีความเกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งอาจก่อให้เกิดลักษณะการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยใช้ข้อมูลภายในได้
(3) การถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในบัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ (Margin Account) ซึ่งอาจถูกบริษัทหลักทรัพย์บังคับขายหลักทรัพย์ดังกล่าว โดยปราศจากความยินยอม ในกรณีที่ไม่สามารถนำหลักประกันมาวางเพิ่มได้
7. นโยบายที่เกี่ยวข้องกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนควรอ่านทำความเข้าใจนโยบายฉบับนี้ ร่วมกับนโยบายและคู่มืออื่นๆ ของบริษัทฯ ดังนี้(1) นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
(2) คู่มือจริยธรรมและจรรยาบรรณธุรกิจของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน
8. การฝ่าฝืนนโยบาย
กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานคนใดฝ่าฝืนนโยบายฉบับนี้ อาจถูกพิจารณาลงโทษทางวินัยจนถึงขั้นให้ออกจากงาน รวมทั้งอาจมีความรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ตามพระราชัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
9. การทบทวนนโยบาย
เลขานุการบริษัทต้องทบทวนนโยบายฉบับนี้เป็นประจำ และเสนอให้คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาอนุมัติหากมีการเปลี่ยนแปลง
10. กรณีมีข้อสงสัย
หากกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานคนใด มีคำถามหรือสงสัยเกี่ยวกับนโยบายฉบับนี้ หรือไม่แน่ใจว่าข้อมูลภายในที่มีสาระสำคัญนั้นได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้วหรือไม่ หรือจะสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้ในสถานการณ์ใดๆ กรุณาติดต่อเลขานุการบริษัท โดยผ่านช่องทางดังนี้
บริษัท เอส พี วี ไอ จํากัด(มหาชน)
ที่อยู่ : 1213/58-59 ซอยลาดพร้าว 94 ถนนศรีวรา แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง
กรุงเทพมหานคร 10310
โทรศัพท์ : 02-559-2901 ต่อ 116
Email : companysecretary@spvi.co.th